จะเอาตัวไหนเก่งสุด ไม่ใช่เรื่องง่าย
ศ นพ ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา
มติชน ทอล์คออฟเดอะทาวน์
ทุกคนในโลกนี้ ไม่อยากติด ไม่อยากตายและอยากปกป้องตนเอง แต่การที่จะคาดคั้น ว่าตัวไหนเก่งสุด คงไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่า ตัวไหนจะช่วยได้เพียงใดเพราะเป็นเรื่องซับซ้อนและ เมื่อนำมาประเมินในสถานการณ์จริงที่มีทั้งความเสี่ยงที่ต่างกัน ปัจจัยประจำตัว ปริมาณเชื้อที่ได้รับ แม้เชื้อตัวเดียวกันก็ต่างกัน จึงได้ตัวเลขที่แตกต่างกันอย่างที่เราเห็น
ประสิทธิภาพ ประการแรกดูว่า จะช่วยป้องกันไม่ให้ติดเชื้อเท่าใด กระบวนการตรงนี้อาจจะใช้ภูมิจากน้ำเหลืองและจากเยี่อบุเป็นหลักแต่เมื่อดูประสิทธิภาพว่าจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงในอวัยวะสำคัญเช่นในปอด กลไกจะเป็นเรื่องของภูมิจากน้ำเหลืองและจากเซลล์ภูมิคุ้มกันเป็นต้น ยังขึ้นอยู่กับการกระจายตัวของระบบป้องกันเหล่านี้ว่าจะแทรกซึมเข้าไปอยู่ในอวัยวะที่ติดเชื้อได้เร็วและได้เก่งแค่ไหน
คนทั่วไปต้องการเพียงคำตอบ “ใช่-ไม่ใช่?” “อันไหนดี-ไม่ดี” “อันไหนดีสุด?”
ในเรื่อง โควิด ไม่มีอะไรง่ายเพียงนั้น ไม่เช่นนั้น ผ่านมา นานกว่า 1 ปีครึ่ง โลกทั้งโลกควรดีกว่านี้มาก ส่วนวัคซีนตามนี้เลย
1-วัคซีนทุกตัวมี กลไก กระตุ้นทางทีเซลล์ (T Cell) ในการออกฤทธิ์ ไม่ใช่มีแต่การสร้างภูมิในน้ำเหลือง แต่จะมากจะน้อยเท่าใด เป็นอีกเรื่อง
ทั้งนี้การจะเปรียบเทียบวัคซีนตัวต่อตัว อาจยังไม่ชัดเจนนักทั้งในที่ฉีดไปแล้ว และในระยะเวลาต่อมาที่ต่างๆกันหลังจากที่ฉีด เมื่อเวลาผ่านไปที่ภูมิในน้ำเหลืองอาจจะหมดไปแล้ว จะยังคงมีทีเซลล์อยู่หรือไม่ที่จะสามารถปฏิบัติงานได้ทันที คล้ายเป็นระบบความจำ ซึ่งน่าจะยังมีและอาจทำให้ใจชื้นได้ว่าแม้ฉีดไปแล้วก็ตามภูมิในเลือดหายไปแล้วก็ตามแต่เมื่อติดเชื้อใหม่อาการก็จะไม่รุนแรง
ประการที่สำคัญก็คือทีเซลล์ที่ยังอยู่นั้นจะสามารถปฎิบัติการข้ามไวรัสตัวเก่าที่เอามาทำวัคซีนได้หรือไม่และปกป้องเราจากสายพันธุ์ใหม่ ก็คือมีฤทธิ์ข้ามสายพันธุ์และจะมี เซลล์ความจำทั้งสองแบบ คือทั้ง T และ B ที่กระตุ้นภูมิน้ำเหลืองให้ขึ้นมาใหม่ได้อีกหรือไม่ นั่นคือ ต้องการระบบความจำ ที่ถูกปลุกมาได้ทันทีที่ติดเชื้อใหม่ไม่ว่าจะสายพันธุ์ใด
2- วัคซีนเชื้อตาย และน่าจะตัวอื่นๆเช่นกันควรจะมีการกระตุ้นทีเซลล์
3- การดูประสิทธิภาพของการป้องกันการติดและเมื่อติดอาการไม่ให้หนัก เป็นเรื่องละเอียดอ่อน และขึ้นกับปัจจัยหลายอย่างด้วยไม่ใช่แต่ภูมิน้ำเหลืองอย่างเดียว ดังข้างต้น
โดยเมื่อมีการติดเชื้อแม้ฉีดวัคซีนแล้ว ถ้าการวินิจฉัยช้า การเริ่มรักษาช้า และการติดเชื้อดันเกิดไปจุดชนวนระยะการอักเสบจนถึงวิกฤติ ซึ่งขณะนั้นแม้ไวร้สจะปริมาณลดลง แต่การดำเนินของโรคและความรุนแรงจะยกระดับขึ้นทันที และอาการหนักรวมทั้งต้องให้ยาซับซ้อนที่อาจมีผลข้างเคียงมากขึ้นไปอีก
4- แม้แต่การดูระดับการยับยั้งไวรัสของภูมิจากน้ำเหลืองของคนที่ได้จากวัคซีนต่างๆ ต่อเชื้อตัวเดียวกัน หรือหลายๆตัวในหลอดทดลองก็ดูดีหมด แต่ขีวิตจริงต่างออกไป หรือแม้แต่ระดับภูมิน้ำเหลืองของวัคซีนตัวหนึ่งต่ำกว่าอีกตัวในคนได้รับวัคซีนหนึ่ง แต่ในสถานการณ์โลกของความเป็นจริงกลับเก่งพอกันก็เป็นได้จากกลไกรวม
5- สิ่งที่ทุกคนไม่อยากเห็นคือการที่สร้างเสริมภูมิในน้ำเหลืองสูงมากๆ แต่ไม่เหมาะเจาะกับไวรัสใหม่ เช่น สายแอฟริกัน แทนที่จะช่วย กลับทำให้มีการอักเสบลุกลามมากขึ้น และความรุนแรงในคนติดเชื้อเดิม หรือได้วัคซีนที่ไม่เหมาะเจาะกับตัวใหม่ จะมากกว่าที่เป็น และเป็นกลไกที่ทราบกันตั้งแต่ ปี 1960 และอาจเกิดขึ้นในไวรัสอื่นๆ รวมทั้งวัคซีนต่อไวรัสอื่นๆ ด้วยแต่โอกาสจะเกิดขึ้นนั้นน้อยนิด
แต่ไม่ว่ายังไงโรคนี้นั้นน่ากลัว และวัคซีนป้องกันโรคได้แน่นอน ฉะนั้นสรุปไม่ว่าจะมีอะไรก็ต้องรีบฉีดไป จะดีที่สุด
Total Page Visits: 1062 - Today Page Visits: 1